วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

โรคเบาหวานชนิดที่ 2

โรคเบาหวานชนิดที่ 2

ในปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงโรคเบาหวาน โดยทั่วไปจะหมายถึง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) หรือ โรคเบาหวานที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน เนื่องจาก 90% ของผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 สาเหตุของโรคเกิดจากหลายๆปัจจัยรวมกัน แต่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุนำที่จะก่อให้เกิดโรคได้ โดยรวมๆเกิดจากการที่ร่างกายผลิตอินซูลินได้น้อยลง ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือเกิดภาวะดื้ออินซูลิน 

อาการของผู้ป่วย

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ถือเป็นภัยเงียบเพราะถ้าจะเป็นก็ไม่มีอาการใดๆแสดงให้เห็น บางคนตรวจพบเพราะโรคแทรกซ้อน ยิ่งใช้ชีวิตแบบคนเมืองยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้มาก อย่างไรก็ดีเบาหวานชนิดที่ 2 ตรวจพบได้มากในผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปที่น้ำหนักเกินมาตรฐาน ไม่จำกัดเพศ และเมื่อเป็นแผล แผลจะหายช้ากว่าปรกติ มีอาการชาตามมือและเท้า สายตาพร่ามัว

ซึ่งส่วนใหญ่อาการที่พบมักจะเป็นอาการของโรคแทรกซ้อน เนื่องจากเมื่อเป็นเบาหวานระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงผิดปรกติ เมื่อน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้ระบบของร่างกายรวน ซึ่งโรคแทรกซ้อนที่พบบ่อย ก็คือ เบาหวานลามเข้าจอประสาทตา, ไตวายเรื้อรังจากเบาหวาน, ภาวะน้ำตาลสูง, โรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน และโรคความดันโลหิตสูง

การป้องกันและหลีกเลี่ยง

เนื่องจากในปัจจุบันยังระบุสาเหตุที่เป็นปัจจัยนำที่ทำให้เป็นโรคเบาหวานไม่ได้ แต่ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นเบาหวานควรจะปฏิบัติดังนี้

     - หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนักให้คงที่
     - ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยรับประทานตามหลักโภชนาการ
     - หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
     - หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีผลต่อการทำลายเชลล์ของตับอ่อน

การดูแลตัวเองเมื่อตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน

เมื่อตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน ควรดูแลตัวเองให้เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนอย่างอื่นเพิ่มขึ้นมาอีก เพราะสาเหตุที่ผู้ป่วยเสียชีวิตส่วนใหญ่จะมาจากโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นมา การดูแลตัวเองควรทำดังนี้ 

     - ควบคุมอาหารโดย ให้งดการบริโภคน้ำตาล, อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่นน้ำอัดลม
     - เน้นการบริโภคผักและผลไม้
     - อย่าอดอาหาร เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่คงที่ และเมื่อรับประทานยาโรคเบาหวานโดยที่ไม่ทานอาหารอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
     - ระวังอย่าให้เป็นแผล เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีอาการแผลหายช้า อาจทำให้เกิดการติดเชื้อจนต้องตัดอวัยวะที่เป็นแผลทิ้ง เพื่อรักษาอาการในส่วนอื่น
    - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์

รู้อย่างนี้แล้วใครอยากอยู่ห่างไกลโรคเบาหวาน อย่าลืมปฎิบัติตามนะครับ

Author:

0 ความคิดเห็น: