วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เบาหวานขึ้นตา ภัยเงียบที่ควรป้องกัน

เบาหวานขึ้นจอประสาทตา

โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา หรือเรียกสั้นๆว่าเบาหวานขึ้นตา เป็นโรคแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ทั้งเบาหวานประเภทที่ 1 และเบาหวานประเภทที่ 2 เนื่องจากเมื่อเป็นเบหวานเป็นเวลานานจะส่งผลให้หลอดเลือดฝอยเสื่อมทั่วร่างกายหรือถึงเส้นเลือดในจอประสาทตาด้วย และเมื่อหลอดเลือดเสื่อมถึงจุดๆหนึ่งเลือดและสารต่างๆในเส้นเลือดจะซึมออกจากหลอดเลือดรวมถึงในจอตาด้วยทำให้สายตาพร่ามัว ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานจึงควรพบจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละครั้งเพื่อตรวจจอประสาทตาว่ายังปรกติดีหรือไม่ เนื่องจากในระยะแรกสายตาจะไม่แย่ลงมากนัก ซึ่งโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาจะแบ่งเป็น 2 ระยะตามความรุนแรง

1. ระยะที่ยังไม่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่

ในระยะนี้จะเกิดการเสื่อมของผนังหลอดเลือดฝอยที่จอประสาทตา ทำให้เกิดอาการหลอดเลือดฝอยโป่งพอง ซึ่งเป็นอาการแรกที่ตรวจพบในโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา อาการต่อไปคือเส้นเลือดเหล่านั้นเกิดการแตก ทำให้เกิดจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายไปทั่ว นอกจากนี้รูรั่วนั้นจะทำให้น้ำและไขมันที่อยู่ในเส้นเลือดรั่วออกมาด้วย น้ำจะทำให้จอประสาทตาบวมน้ำ ถ้าจุดบวมน้ำเกิดขึ้นที่บริเวณจุดภาพชัด (macular edema) จะทำให้สายตาพร่ามัว ส่วนไขมันจะทำให้เกิดจุดไขมันสีเหลือง

2. ระยะที่มีการสร้างหลอดเลือดใหม่

ในระยะนี้เกิดขึ้นจาก เส้นหลอดฝอยที่เสื่อมลงเกิดการอุดตันทำให้เกิดภาวะจอประสาทตาขาดเลือด กระตุ้นให้ร่างกายสร้างเส้นเลือดฝอยใหม่ แต่เส้นเลือดฝอยที่สร้างขึ้นมาใหม่จะเปราะและแตกง่าย และเส้นเลือดฝอยที่สร้างมาใหม่เหล่า จะทำให้เกิดพังผืดรั้งจอประสาทตา ทำให้ผู้ป่วยสายตาแย่ลงอย่างมากสาเหตุจาก เลือดออกในจอประสาทตาและจอประสาทตาลอก

อาการบ่งชี้ว่าเป็นโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

หากคุณเป็นเบาหวานอยู่แล้ว หรือคนใกล้ตัวที่เป็นเบาหวานเกิดอาหารเหล่านี้ควรพาไปพบแพทย์จักษุแพทย์เพื่อให้ตรวจจอประสาทตาอย่างละเอียด เพราะโรคนี้อาจจะทำให้ตาบอดได้
     
     - รู้สึกว่าสายตาพร่ามัวลง
     - การมองเห็นมืดลงอย่างฉับพลัน
     - มองเห็นภาพมืดด้านใด ด้านหนึ่ง
     - มองเห็นภาพซ้อน หรือเห็นภาพบิดเบี้ยว

การรักษา

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ควรรีบทำการรักษาทันที เพราะแม้ว่าในระยะเริ่มแรกสายตาจะยังเป็นปรกติ แต่เมื่อเป็นโรคนี้นานๆ จะทำให้ตาบอดได้ และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต้อกระจก หรือต้อหินร่วมด้วย ในปัจจุบันมีการรักษาโรคเบาหวานขึ้นตา 3 วิธี

1. รักษาด้วยการยิงเลเซอร์ เป็นวิธีมาตรฐานในการรักษา โดยยิงเลเซอร์ไปยังบริเวณที่มีการสร้างเส้นเลือดใหม่ หรือบริเวณที่จุดภาพชัดบวมน้ำ ซึ่งเลเซอร์จะทำให้เส้นเลือดที่สร้างใหม่ฝ่อลง และจุดภาพชัดที่บวมน้ำยุบลง แต่การยิงเลเซอร์ต้องแบ่งยิงหลายครั้งถ้ามีการบวมน้ำ หรือสร้างเส้นเลือดใหม่หลายจุด เพื่อป้องกันจอประสาทตาบวมจากการยิงเลเซอร์ ซึ่งวิธีนี้เป็นที่นิยมเนื่องจากเกิดภาวะแทรกซ้อนในการรักษาน้อย

2. รักษาด้วยการผ่าตัด จะใช้ในผู้ป่วยรายที่เกิดผังผืดดึงรั้งจอประสาทตา หรือจอประสาทตาลอก การผ่าตัดวุ้นตา อาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามและซ่อมแซมให้จอประสาทตาที่ลอกกลับเข้าที่เดิม แต่การรักษาอาจไม่ช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น ขึ้นอยู่กับอาการและ ความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย

3. รักษาด้วยยา เป็นการรักษาวิธีใหม่ ทำโดยการฉีดยาที่มีฤทธิ์ช่วยลดการรั่วของหลอดเลือด และทำให้เส้นเลือดที่โป่งพองฝ่อลงเข้าไปในวุ้นตา การรักษาด้วยวิธีนี้ค่อนข้างได้ผล แต่ผลของยาอยู่ได้ไม่นานและมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา เช่น เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ, เลือดออกบริเวณวุ้นตาเป็นต้น นอกจากนี้เนื่องจากยาที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 กลุ่มคือ สเตียรอยด์และยาต้านการสร้างเส้นเลือดใหม่ ซึ่งสเตียรอยด์อาจส่งผลให้เกิดต้อกระจกหรือต้อหินในผู้ป่วยบางรายด้วย

Author:

0 ความคิดเห็น: