วันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เบาหวานขณะตั้งครรภ์รับมืออย่างไร?

เบาหวานขณะตั้งครรภ์

คุณแม่มือใหม่ทุกคนไม่มีใครอยากให้เกิดโรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์เพราะอาจจะส่งผลต่อลูกในครรภ์ได้ แต่เมื่อตั้งครรภ์ รกจะสร้างฮอร์โมนบางชนิดที่สามารถต่อต้านอินซูลินที่คอยควมคุมระดับน้ำตาลในเลือดออกมา ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ภาวะนี้อาจส่งผลต่อทั้งตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ ดังนั้นจึงควรรีบฝากครรภ์ตั้งแต่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ เพื่อให้แพทย์ควรอย่างละเอียดและป้องกันหรือบรรเทาโรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยทั่วไปเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะมี 2 ประเภทคือ

1. เป็นเบาหวานอยู่แล้วก่อนตั้งครรภ์

เป็นชนิดที่พบได้ทั้งผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2 เบาหวานในลักษณะก่อนตั้งครรภ์จะมีความรุนแรง และตัวโรคส่งผลต่อการสร้างอวัยวะของทารก ซึ่งอาจทำให้ทารกมีความผิดปรกติหรืออาจแท้งได้

2. เพิ่งเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

เป็นกรณีที่พบได้ประมาณ 12% ของคุณแม่ทั้งหมดและคิดเป็น 90% ของผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีโอกาศเกิดตั้งแต่อายุครรภ์ 20 - 28 สัปดาห์ ซึ่งเมื่อเป็นอาจส่งผลให้ทารกตัวโต คลอดยาก หรือแท้งได้เมื่อใกล้กำหนดคลอด

แล้วคุณแม่คนไหนมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์บ้าง?

กลุ่มคุณแม่ที่มีความเสี่ยงจะเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คือคุณแม่ที่อยู่ในกลุ่มนี้

     - คุณแม่ที่คนในครอบครัวเช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือพี่น้องท้องเดียวกัน เป็นโรคเบาหวาน
     - คุณแม่ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
     - คุณแม่ที่เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน
     - คุณแม่ที่ตรวจพบว่ามีน้ำคร่ำมากกว่าปรกติ
     - ตรวจปัสสาวะแล้วพบว่ามีน้ำตาลในปัสสาวะ 2 ครั้งติดต่อกันขณะตั้งครรภ์
     - คุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวมาก
     - เคยตั้งคลอดบุตรมาแล้วหลายคน
     - เคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักมากกว่า 4,000 กรัม
     - คุณแม่ที่ตั้งครรภ์หลังอายุ 35 ปี
     - เคยแท้งบุตรโดยไม่ทราบสาเหตุ 3 ครั้งติดต่อกันขึ้นไป
     - เคยตั้งครรภ์ แล้วบุตรเสียชีวิตในครรภ์, เสียชีวิตตอนคลอด หรือเสียชีวิตแรกคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ

ความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์

เมื่อเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะทำให้ทารกในครรภ์มีขนาดตัวใหญ่ผิดปรกติ เป็นอุปสรรคต่อการคลอด ซึ่งอาจทำให้แท้งได้ และหลังคลอดทารกจะมีพัฒนาการด้านการหายใจช้ากว่าทารกทั่วไป ไม่สามารถหายใจเองได้เมื่อแรกคลอด เสี่ยงต่อภาวะเหลืองหลังคลอดมากกว่าทารกทั่วไปและ อาจจะพบภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในทารกได้ ซึ่งอาการนี้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจจะส่งผลต่อสมองของทารก

การรับมือกับเบาหวานขณะตั้งครรภ์

รับมือไม่ยากแค่รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปรกติเหมือนผู้ป่วยเบาหวานทั่วไปแค่นั้นเองครับ แต่การทานอาหารควรทานเป็นมื้อเล็กๆ แต่หลายมื้อ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ปรกติ ไม่ควรปล่อยให้ท้องว่างเกิน 3 - 4 ชั่วโมง และห้ามอดอาหาร อย่างเด็ดขาดเพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ปรกติ 

การรับประทานอาหารควรเลือกรับประทานดังนี้

     ควรทานผักให้มากขึ้นอย่างน้อย 1/3 ของมื้อ (จะผ่านกรรมวิธีการปรุงอาหารอย่างต้ม นึ่งก็ได้ แต่ไม่ควรเป็นผักทอด) 

     หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น แป้งขัดสีอย่างขนมปังขาว, พาสต้า, ข้าว และคอนเฟล็ก, น้ำตาล, น้ำหวาน, น้ำอัดลม, และแยมผลไม้ หากจะรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต พวกเลือกทานพวกข้าวก้อง หรือขนมปังธัญพืชจะดีกว่า

     พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เบคอน กุนเชียง หรืออาหารจำพวกที่มีหนัง หรือมันสัตว์เลือกทานเฉพาะเนื้อที่ไม่ติดหนัง

นอกเหนือจากนี้ การออกกำลังกายก็ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีครับ ไม่จำเป็นต้องออกแรงมาก ขอแค่เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจให้เพิ่มขึ้นซักเล็กน้อยก็พอเพียงแล้ว เช่นเดินหลังอาหารเช้า และเที่ยง ซัก 15 - 30 นาที เพื่อให้ร่างกายใช้อินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

Author:

0 ความคิดเห็น: